ฮอตไลน์เพศ 1323 เพื่อแก้ปัญหาทำแท้ง นพ. สุริยเดว นำเครือข่าย 45 องค์กร ยื่นหนังสือถึง ครม. เพื่อเสนอมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ ที่ไม่พร้อมอย่างรอบด้าน ขั้นแรกดูแลความปลอดภัยให้กับเยาวชนและผู้เข้ารับบริการ พม.เตรียมเสนอยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหานำเสนอที่ประชุมครม. ยันต้องเอาผิดผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ ชี้หากผ่านครม.จะเสนอเป็นวาระแห่งชาติ

    เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนประชุม ครม. เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม 45 องค์กร ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และอนุกรรมการดูแลสุขภาพวัยรุ่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย นำโดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตรี ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ายื่นหนังสือถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และ รมต.สายสังคม ประกอบด้วย รมว.สาธารณสุข (สธ.) รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ รมว. ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเสนอมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอย่างรอบด้าน

    นพ.สุริยเดว กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้หญิงประมาณ 3 แสนคนตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม จำนวน 30% อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี และอีก 70% เป็นวัยแรงงาน ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมนี้ มีอัตราการทำแท้งสูงถึงร้อยละ 16 การแก้ไขปัญหาจึงต้องทำอย่างรอบด้านทั้งระบบ สถานการณ์ในกลุ่มวัยรุ่นถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะจากการประชุมวัยรุ่นโลกเมื่อปี 2552 พบว่าไทยและพม่า ติดอันดับมีอัตราการตายของวัยรุ่นสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยสาเหตุอันดับ 1 มาจากทำแท้งจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย รองลงมาคือโรคเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย

    “ดังนั้นบันไดขั้นแรกของการแก้ปัญหา คือ ต้องสร้างความคุ้มครองความปลอดภัยที่แท้จริงให้กับเยาวชน และผู้ที่เข้ารับบริการ เพื่อให้กล้ามารับบริการ ซึ่งสถาบันแห่งชาติฯ มีความพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและสังคมให้สอดรับการให้บริหาร โดยเฉพาะด้านเด็กและครอบครัว” นพ.สุริยเดว กล่าว

    ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผจก.มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า เครือข่ายขอเสนอ 2 มาตรการสำคัญ คือ 1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อลดจำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงศึกษาฯ จัดการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาที่รอบด้านให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเยาวชน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องจัดศูนย์สุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ เน้นให้ความรู้และบริการอุปกรณ์การคุมกำเนิด เป็นต้น 2. มาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการทำร้ายทารกและทำแท้งเถื่อน กระทรวงศึกษาฯ ควรกำหนดนโยบายและมาตรการดูแลนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับโอกาสศึกษาต่อ กระทรวงแรงงาน ควรออกระเบียบให้สถานประกอบการที่มีแรงงานหญิงตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป มีศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการ ให้ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤติ (ศูนย์พึ่งได้) ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยแรกรับสำหรับผู้ประสบปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

    นอกจากนี้ กระทรวง พม. ควรปรับปรุงระบบบ้านพักชั่วคราวดูแลผู้ที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งขยายบริการการยกบุตรบุญธรรม และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกันกำหนดมาตรการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน หรือมีปัญหาสุขภาพให้ครอบคลุมสถานพยาบาลทุกประเภททั่วประเทศ

    ขณะที่นายอิสสระ สมชัย รมว.พม. ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงเสนอยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็ก และเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ที่ดำเนินการเสร็จตั้งแต่ต.ค.ที่ผ่านมา กำลังเสนอเข้าครม. พอดีมีเหตุการณ์ที่วัดไผ่เงิน นายกฯ จึงเร่งรัดนำขึ้นมาหารือ โดยสัปดาห์นี้เลขาธิการ ครม. ให้ขอความเห็นจากหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ก่อนนำเสนอที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า

    นายอิสสระ กล่าวอีกว่า ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวเขียนชัดเจนว่าต้องเอาผิดผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่เอาผิดเฉพาะผู้หญิงฝ่ายเดียว โดยกระทรวงจะจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นประชาชน หน่วยงานราชการ เอกชน มาให้ความเห็นกรณีเอาผิดผู้ชายที่ทำให้ท้องและนำไปสู่ปัญหาทำแท้ง และเชิญอัยการที่มีความรู้เรื่องกฎหมายมาเสนอข้อคิดเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้าผ่านครม.จะเสนอเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พม. สธ. ศธ. แรงงาน มหาดไทย ตำรวจ ไอซีที มาร่วมหารือกันเพื่อหาทางออกให้สังคม ขณะเดียวกันหากยุทธศาสตร์ผ่านครม.แล้วจะเสนอนายกฯ เชิญผวจ.ทั่วประเทศมาร่วมรับทราบยุทธศาสตร์เพื่อรับไปดำเนินการในจังหวัดต่อไป

    ที่ห้องศรีสุริยวงศ์ บอลรูม โรงแรมตวันนา เขตบางรัก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม.เพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับ ผอ.โรงเรียน รอง ผอ.โรงเรียนฝ่ายวิชาการ ครูผู้สอนการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียน ศึกษานิเทศก์และเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน อีกทั้งสอนให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันการใช้ชีวิตทางเพศ การรักนวลสงวนตัว การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ตลอดจนเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยมทางด้านพฤติกรรมทางเพศของเยาวชนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมไทย

    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า กทม. ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิผู้หญิง องค์การแพธ (PATH) เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และสูตินรีแพทย์จาก รพ.รามาธิบดี เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องตามโครงการพัฒนาทักษะชีวิตนักเรียนในสังกัด กทม. และตระหนักถึงปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และทำแท้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงสภาพจิตใจและพฤติกรรมทางเพศที่เสื่อมถอยของบุคคล ประกอบกับเรื่องเพศศึกษาในสังคมไทยเป็นเรื่องไม่ควรเปิดเผย ทำให้การให้ความรู้กับเยาวชนอยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้เยาวชนแสวงหาความรู้ ความเข้าใจที่ผิด จนถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และเกิดปัญหาการทำแท้งเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ การฝึกอบรมดังกล่าวจะทำให้ผู้ดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชนในสังกัด กทม. นำความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาและสุขศึกษาอย่างถูกต้องไปให้ความรู้แก่นักเรียนในสังกัดและเยาวชนอย่างถูกต้องต่อไป

    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคลินิกทำแท้งเถื่อนว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากภายหลังปรากฏเป็นข่าวคลินิกเหล่านี้ปิดตัวเงียบ ในส่วนของการตรวจสอบการออกใบหลักฐานการเกิดให้เด็กที่รอดชีวิตจากทำแท้ง ของศูนย์อนามัยขอนแก่นและร.พ. ขอนแก่น เบื้องต้นพบว่า สถานพยาบาลทั้งสองแห่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อว่าอาจทำเอกสารปลอมขึ้นมา

    นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า เรื่องการทำแท้งเป็นปัญหาสะสมที่ต้องแก้ไขด้วยการป้องกัน และหากตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จริงๆ ควรให้คำปรึกษาอย่างถูกต้อง ล่าสุดมอบหมายให้กรมสุขภาพจิตจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และปัญหาเพศสัมพันธ์ต่างๆ ขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ผ่านสายด่วน 1323 คาดว่าจะสามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ภายใน 1 – 2 วัน ซึ่งกรมสุขภาพจิตจะจัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อให้คำปรึกษาวัยรุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศใน 3 ด้านหลัก คือ 1. ให้ความรู้ในการรู้จักปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่เสียความสัมพันธ์ที่ดี 2. รู้จักป้องกันตัวเองในการมีเพศสัมพันธ์ และ 3. หากตั้งครรภ์จะแก้ปัญหาอย่างไร

    รมว.สธ. กล่าวด้วยว่า ตัวเลขที่ผ่านมาพบว่า การทำแท้งกว่าครึ่งเป็นวัยรุ่น อายุไม่เกิน 19 ปี โดยพบปีละประมาณ 120,000 คน สิ่งสำคัญต้องรณรงค์ทำความเข้าใจถึงการมีเพศสัมพันธ์ไม่พร้อมที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งค่านิยมที่ผู้ชายมักไม่สวมถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ถือเป็นค่านิยมที่ผิด เพราะหากไม่ป้องกันนอกจากจะเสี่ยงตั้งครรภ์ไม่พร้อมแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดโรค

    ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงเวลาต้องรณรงค์ติดตั้งเครื่องจำหน่ายถุงยางอนามัยในสถานศึกษาหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม ต้องแก้ปัญหาแยกส่วน หากต้องถึงขั้นนำถุงยางอนามัยไปไว้ในโรงเรียนก็อาจเกิดผลลัพธ์ 2 ด้าน คือ จะช่วยเรื่องการป้องกันโรค ป้องกันการตั้งครรภ์ แต่อีกด้านจะเป็นการยั่วยุทำให้เกิดความเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนหรือไม่ เรื่องนี้ทางที่ดีที่สุดต้องรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจว่า อะไรถูกผิด และให้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

    ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การที่เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเป็นผลจากการที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพราะความเข้าใจผิดที่ว่า มีเซ็กส์กับแฟนหรือคนรักหากป้องกันหรือสวมถุงยางอนามัยจะเป็นการไม่ไว้ใจกัน และการมีเซ็กส์แล้วสวมถุงยางอนามัยจะไม่สนุก ล้วนแต่เป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น แท้จริงจะมีความสุขหรือไม่มีไม่เกี่ยวกับการสวมถุงยางอนามัย อยู่ที่ความคิด และการป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัยไม่เพียงแต่ป้องกันการท้องที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น ยังป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ต่างๆ ด้วย

อ้างอิง : หนังสือพิมพ์ข่าวสด