
ไขความลับใหลตาย
สุขภาพแข็งแรง กินอาหารครบทุกหมู่ นอนหลับเต็มอิ่ม แ่ต่ลงสนามกีฬาเหนื่อยง่ายทุกที อาการเช่นนี้พบแพทย์สักครั้งดีไหม
รพ.หัวใจกรุงเทพไขความลับโรคใหลตาย เหตุจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิจัย 10 ปีพบทางเลือกใหม่ใช้พลังงานความร้อนจี้ทำลายต้นตอ
สถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิดวงตะวัน และมูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ศึกษาวิจัยโรคใหลตายเพื่อหาทางรักษาและป้องกันมากว่า 10 ปี
นพ.กัมปนาท วีรกุล อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ในฐานะผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า การเสียชีวิตกะทันหันจากโรคใหล เกิดจากการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจที่เกิดขึ้นเอง (VF) ทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนกะทันหัน เป็นผลให้กล้ามเนื้อตามตัว แขนขาเกิดอาการเกร็งและหายใจเสียงดังจากการมีเสมหะในหลอดลม บางรายจะมีอุจจาระ ปัสสาวะราด จากการสูญเสียการควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยจะมีใบหน้า ริมฝีปากเขียวคล้ำและเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว หากไม่ได้รับการกู้ชีวิตที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อผ่าพิสูจน์ผู้ป่วยโรคใหลที่เสียชีวิต จะพบว่า กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจล้วนแต่เป็นปกติดี แต่สำหรับในรายที่รอดชีวิต ร้อยละ 90 มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และมีลักษณะเฉพาะ คือ คลื่นหัวใจแบบขาตั๊กแตน ที่มีการยกตัวของคลื่น ST เหมือนกับที่คนไข้ที่เสียชีวิตกะทันหันในยุโรป
ด้าน นพ.กุลวี เนตรมณี ประธานสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะฯ กล่าวเสริมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ คือ การสูญเสียโปตัสเซียม แมกนีเซียมจากร่างกาย เช่น จากการอาเจียน ท้องร่วง กินยาขับปัสสาวะ หรือดื่ม กาแฟ ชา หรือ เหล้า ซึ่งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะเช่นกัน รวมไปถึงการมีไข้สูง การเกิดความเครียดจากการอดนอนทำงานหนัก
“แม้ว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือ EKG จะบ่งชี้ได้ว่าเสี่ยงต่อโรคใหลตายหรือไม่ แต่เบื้องต้นสังเกตได้ง่ายๆ คือ ผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคนี้มักมาโรงพยาบาลด้วยอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือปลุกไม่ตื่นในตอนเช้า มีอาการปัสสาวะราด ตัวเกร็ง หายใจอึดอัดตอนกลางคืน ฉะนั้น หากมีอาการดังกล่าว ถือว่ามีความเสี่ยงโรคใหลตาย รวมถึงคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคใหลตายใน 4 ช่วงอายุคน” นพ.กุลวี กล่าว
วิธีเดียวที่จะป้องกันโรคใหลตาย คือ ฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (ICD) ที่ใช้คลื่นไฟฟ้ากระตุกหัวใจให้กลับมาทำงานเป็นปกติ เพื่อหยุดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจหรือ VF โดยเร็วที่สุด ขณะที่การรับประทานยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น ไม่มีผลในการช่วยชีวิตแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เครื่องกระตุกหัวใจไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการป้องกันการเสียชีวิต และยังมีราคาสูงถึงเครื่องละ 3 แสนบาท และมีอายุใช้งาน 5-7 ปีก็ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย จึงเกิดปัญหาเมื่อไม่สามารถหาเครื่องใหม่ทดแทนด้วยกำลังทรัพย์ของตนเองได้
“เราศึกษาพบว่า ตำแหน่งของจุดกำเนิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัว อยู่ที่ตอนบนบริเวณผิวนอกของผนังหัวใจด้านขวาล่าง และการใช้พลังงานความร้อนเท่าคลื่นวิทยุจี้ทำลายจุดกำเนิดดังกล่าว อาจเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาที่สามารถป้องกันการเสียชีวิตจากการเกิดการเต้นระริกที่ไม่มีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้” นพ.กุลวีกล่าว
ทีมแพทย์ได้ทดลองรักษาไปแล้ว 20 คนในคนไข้ที่มีอาการรุนแรง และติดตามผลทุก 3-6 เดือน เป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่า ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับการดูแลตนเอง ลดเสี่ยงใหลตาย นพ.กัมปนาท แนะว่า ควรกินอาหารที่มีโปตัสเซียมให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงตัวขับปัสสาวะโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ที่ทำให้ระดับโปตัสเซียมในร่างกายต่ำ เลี่ยงอาหารอิ่มจัด เช่น ข้าวเหนียว เพราะกระเพาะอาหารที่ขยายตัว อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้
ขณะเดียวกันก็ควรเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาปฏิชีวนะบางตัว ยาต้านโรคซึมเศร้าบางตัว ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อยาได้ที่ www.brugada.com
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ 8 พฤษภาคม 2555